กำลังโหลด...

    วินัยทางงบประมาณและการคลัง บัญญัติขึ้นเป็นครั้งเเรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 โดยมีหลักการสำคัญ คือ การควบคุมตรวจสอบให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของหน่วยรับตรวจปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐที่คณะกรรมการตรวจเงินเเผ่นดินกำหนดขึ้นเพื่อทำให้ระบบควบคุมตรวจสอบการเงินแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัยทางการเงินการคลังทั้งนี้ ความรับผิดทางวินัยทางงบประมาณและการคลังเป็นความรับผิดที่เเยกต่างหากจากความรับผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง[1] เนื่องจากการขาดสภาพบังคับทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ที่ฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการเงินของรัฐเมื่อมีการตรวจพบการกระทำผิดเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ทางปฏิบัติที่ผ่านมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำได้เพียงส่งเรื่องไปให้ผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำผิดหรือเจ้าพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาลงโทษแต่ประการใด การปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงเป็นเพียงการตรวจสอบที่ปราศจากซึ่งอำนาจลงโทษโดยตรง อันเป็นเหตุให้บรรดาหน่วยรับตรวจขาดซึ่งความยำเกรงต่อกระบวนการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินและลักษณะของความรับผิดที่เป็นอยู่อันได้แก่ ความรับผิดทางวินัย ความรับผิดทางแพ่ง และความรับผิดทางอาญานั้นก็ไม่มีความเหมาะสมและไม่อาจใช้บังคับได้จริงในทางปฏิบัติ กล่าวคือ การลงโทษทางวินัย อันได้แก่ การภาคทัณฑ์ การตัดเงินเดือน การลดเงินเดือน การปลดออก และการไล่ออก เนื่องด้วยความผิดที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่หน่วยงานของตน การลงโทษทางวินัยจึงมักไม่เกิดขึ้น ในส่วนของการลงโทษทางแพ่ง โดยหลักการแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุที่ส่วนใหญ่ผู้ที่กระทำความผิดมักไม่สามารถหาทรัพย์สินมาชดเชยความเสียหายที่ตนได้ก่อให้เกิดแก่รัฐได้เพียงพอ ประกอบกับ การลงโทษทางอาญาก็เป็นการลงโทษที่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่ความเสียหายที่รัฐได้รับก็ไม่ได้รับการเยียวยาหรือแก้ไขให้ดีขึ้น อีกทั้ง กระบวนการพิจารณาในคดีอาญา ก็มีหลักการที่แตกต่างจาก กระบวนการพิจารณาในคดีปกครอง โดยโจทก์จะต้องหาพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัย จึงเป็นการยากอย่างยิ่งที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษทางอาญาได้ ดังนั้นเพื่อให้กลไกในการตรวจสอบควบคุมการเงินของรัฐมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจึงทำให้เกิดแนวความคิดในการจัดตั้งคณะกรรมการที่จะทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังขึ้นโดยพิจารณาจากรูปแบบศาลวินัยทางงบประมาณและการคลังของประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำหน้าที่พิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครองแก่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของหน่วยรับตรวจที่กระทำความผิดที่เข้าองค์ประกอบของความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังตามกฎหมาย[2] ดังนั้นจึงมีการนำหลักการระบบวินัยทางงบประมาณและการคลัง บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จึงถือเป็นการเริ่มต้นของระบบวินัยทางงบประมาณและการคลังในประเทศไทย

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 11 ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินมาตรา 312 และมาตรา 333 ได้กำหนดโครงสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินใหม่ให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระและเป็นกลางในการตรวจเและให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ต่อมาจึงมีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ขึ้นเพื่อกำหนดอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการวินัยงบประมาณและการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาในเรื่องวินัยทางงบประมาณและการคลัง การกำหนดโทษปรับทางปกครอง การพิจารณาวินิจฉัยความผิดทางวินัยและงบประมาณและการคลังในฐานะที่่เป็นองค์กรสูงสุด ดังนั้น เพื่อให้ระบบการควบคุมการตรวจสอบการเงินแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีวินัย ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐขึ้น โดยออกระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารการเงินและการคลังที่ออกตามความในกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อกำหนดอื่นที่หน่วยรับตรวจต้องยึดถือปฏิบัติอยู่แล้ว และถือเป็นวินัยทางงบประมาณและการคลัง หากเจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐตามที่กำหนดในระเบียบดังกล่าว ถือว่ากระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง ต้องรับโทษปรับทางปกครอง โดยให้คณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและกำหนดโทษปรับทางปกครองเบื้องต้น และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังในฐานะที่เป็นองค์กรสูงสุด

    ด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 23 กำหนดให้คำวินิจฉัยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นที่สุด จึงถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสถานภาพแห่งสิทธิของบุคคล การพิจารณาทางปกครองจึงต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่สร้างหลักประกันความเป็นธรรมได้อย่างแท้จริงไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งระบบวิธีพิจารณาความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังถือเป็นกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง ดังนั้น จึงต้องสร้างกลไกของกระบวนพิจารณาความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังให้มีลักษณะกึ่งองค์กรตุลาการ โดยใช้ระบบไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงตามหลักฟังความทุกฝ่าย เป็นรูปแบบทำนองเดียวกับระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวิธีพิจารณาความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้มีการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังแบบ 3 ชั้น คือ ชั้นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบสำนวนเพื่อทำหน้าที่ทำสำนวนรวบรวมข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นโดยอิสระแก่คณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง ชั้นคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังทำหน้าที่พิจารณาและกำหนดโทษปรับทางปกครองเบื้องต้น และชั้นคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดและกำหนดโทษปรับทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง ซึ่งทำให้ระบบวิธีพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลังเป็นระบบที่มีการรับฟัง ถ่วงดุล เปิดเผย โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบความสมเหตุสมผลของคำวินิจฉัยได้สอดคล้องกับระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองภายใต้หลักกฎหมายมหาชน

    ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กำหนดสาระสำคัญให้ครอบคลุมกับงบประมาณแผ่นดินเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วินัยทางการเงินการคลัง และงบประมาณ”โดยมาตรา 253 กำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการวินัยทางการเงินและการคลังที่เป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยการดำเนินการที่เกี่ยวกับวินัยทางการเงินการคลังและการงบประมาณ และให้คดีที่พิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินัยทางการเงินและการคลังในเรื่องดังกล่าวเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงมิได้มีอำนาจหน้าที่ในฐานะองค์กรชี้ขาดสูงสุดในกระบวนการทางวินัยทางการเงินการคลัง และงบประมาณ แต่เนื่องจากยังไม่มีการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกอบกับบทเฉพาะกาล มาตรา 302 บัญญัติให้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับต่อไปได้จนกว่าจะมีฉบับใหม่ ทำให้ทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 รวมทั้งระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ.2544 และระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวิธีพิจารณาวความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ.2544 ยังคงมีผลใช้บังคับเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติ มาตรา ๑๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ถือเป็นที่มาของแนวคิดในการตรากฎหมายการเงินการคลังของรัฐ เพื่อกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งต้องใช้เป็นกรอบในการจัดหารายได้ กำกับการใช้จ่ายเงินตามหลักการรักษาเสถียรภาพ พัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและความเป็นธรรมในสังคม โดยกระทรวงการคลังได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติหลักการ แต่มิได้มีการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภา จึงส่งผลให้ในขณะนั้นกฎหมายการเงินการคลังของรัฐยังไม่มีผลใช้บังคับ[3] จนกระทั่งในปัจจุบันเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และมาตรา 240 บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ทังนี้ สืบเนื่องมาจากในอดีตที่ผ่านมา ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐของประเทศไทยประสบปัญหาหลายด้าน ได้แก่

    (1) ปัญหาระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐของประเทศไทย เป็นการบริหารงานแบบรวมศูนย์ ซึ่งเป็นการบริหารในระบบปิด ทำให้เกิดปัญหาไม่ตอบสนองในระดับพื้นที่ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเงินการคลังงบประมาณ

    (2) ปัญหาการกระจัดกระจายของกฎหมายเกี่ยวกับการคลังของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันนี้มีมากมายหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.2491 พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 เป็นต้น ทำให้ไม่เกิดเอกภาพในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการคลัง เป็นผลทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของกฎหมายเกี่ยวกับการคลัง

    (3) ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการคลัง ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงภาระผูกพันทางการคลังในอนาคต กล่าวคือแม้จะมีความพยายามจัดทำงบประมาณระยะปานกลาง แต่ในทางปฏิบัติยังคงเกิดการพิจารณารายจ่ายต่อปี ซึ่งส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อวงเงินของรัฐบาลในอนาคต

    (4) ปัญหาความยืนหยุ่น ความคล่องตัวในการจัดตั้งงบประมาณ และใช้จ่ายงบประมาณเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งรายจ่ายงบกลาง เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การใช้เงินคงคลังและเงินนอกงบประมาณโดยไม่ได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีการจัดทำรายละเอียดแผนงาน และเพดานการตั้งงบประมาณหรือใช้งบประมาณ

    (5) ปัญหาไม่มีการกำหนดบทลงโทษหน่วยงานที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายการคลัง[4]

    และได้มีการตราพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ขึ้นเป็นแม่บทในการรักษาวินัยการเงินการคลัง โดยมาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคม และต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และมาตรา 80 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีมีการกระทำผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ การสั่งลงโทษทางปกครองให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 240 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 27(5)บัญญัติให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่และอำนาจสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยในการพิจารณาวินิจฉัยเพื่อลงโทษทางปกครอง ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินใช้รายงานผลการตรวจสอบของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นหลัก แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแสดงหลักฐานประกอบการพิจารณาด้วย การแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ และการยื่นคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจึงออกระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2562 ขึ้นใช้บังคับ โดยได้กำหนดขั้นตอนกระบวนการในการแจ้งข้อกล่าวหา การชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐเพื่อมีคำสั่งลงโทษทางปกครอง ซึ่งโทษทางปกครอง ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และโทษปรับทางปกครอง ทั้งนี้ ผู้ถูกสั่งลงโทษทางปกครองอาจอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ซึ่งในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ต้องคำนึงถึงนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน และหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินประกอบด้วย

    กล่าวโดยสรุป “วินัยทางงบประมาณและการคลัง”ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับและเป็นองค์กรวินิจฉัยชี้ขาดสูงสุดในเรื่องวินัยทางงบประมาณและการคลังและมีคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังเป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงและพิจารณาในเบื้องต้นโดยมีระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวิธีพิจารณาความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ.2544 กำหนดขั้นตอนกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง และมีระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยความผิดวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ.2544 กำหนดการกระทำใดที่หากฝ่าฝืนจะมีโทษทางวินัยทางงบประมาณและการคลัง โดยมีองค์ประกอบความผิด คือ ผู้กระทำต้องเป็นเจ้าหน้าที่ มีหน้าที่ จงใจกระทำไม่ถูกต้องในเรื่องที่ระเบียบกำหนดไว้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ จนเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้ จึงมีการเปลี่ยนเป็น “วินัยทางการเงินการคลัง” โดยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 เป็นกฎหมายหลักเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ชัดเจน และในกรณีที่มีการกระทำผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” มีอำนาจในการสั่งลงโทษทางปกครองแต่เพียงองค์กรเดียว ไม่มี“คณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง”ทำหน้าที่พิจารณากำหนดโทษปรับทางปกครองเบื้องต้นดังที่ผ่านมา ซึ่งหลักการเสนอความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐและการสั่งลงโทษทางปกครองให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 ในขณะที่หลักเกณ์์ในการควบคุม เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังของรัฐนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 นั่นเอง[5]

[1] บรรเจิด สิงคะเนติ,“โครงการศึกษาการบังคับใช้กฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน”,รายงานการศึกษาวิจัยฉบับสมบูรณ์ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน, (สิงหาคม 2554), น. 90.

[2] อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป,รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาวิจัย เรื่อง วินัยทางงบประมาณและการคลัง,(มกราคม 2549),น.73-74.

[3] ภัทรวรินทร์ บุญชู ,ปัญหาการควบคุมตรวจสอบวินัยการเงินการคลังของรัฐภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,ดุษฎีนิพนธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,น.190-191

[4] กลุ่มงานบริการวิชาการ สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,เอกสารการประกอบการพิจารณาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ การอภิปรายแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ (การคลังและงบประมาณของรัฐ)อ.พ.8/2558,พฤศจิกายน 2558,น.3-4

[5] ภัทรวรินทร์ บุญชู,อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 3,น.193

ทำเนียบคตง.




กลับหน้าหลัก