การพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ
คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ออกระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2562 โดยกำหนดขั้นตอนหรือกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐไว้ ดังนี้
1. ขั้นตอนการรับหรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณา เมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อให้ลงโทษทางปกครองแก่ผู้รับตรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะดำเนินการลงทะเบียนในสารบบ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ให้ทำการตรวจเรื่องตามหลักเกณฑ์ข้อ 21 ข้อ 22 และข้อ 23 พร้อมจัดทำบันทึกตรวจเรื่องเสนอความเห็นต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะเรียกประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณามีมติรับหรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณาโดยเร็ว
- กรณีคณะกรรมการมีมติสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะจำหน่ายเรื่องนั้นออกจากสารบบ
- กรณีคณะกรรมการมีมติสั่งรับเรื่องไว้พิจารณาและแจ้งข้อกล่าวหา มอบหมายกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคนใดคนหนึ่ง เป็นกรรมการเจ้าของเรื่องและมอบหมายข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอย่างน้อยคนหนึ่งเป็นผู้ช่วยกรรมการเจ้าของเรื่อง กรรมการเจ้าของเรื่องจะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพร้อมทั้งแสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตนเพื่อพิสูจน์ ยืนยัน หักล้าง หรือแก้ข้อกล่าวหาทั้งในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย
2. ขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาและการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา การแจ้งข้อกล่าวหาจะต้องทำเป็นหนังสือตามแบบที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดโดยระบุข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เป็นเหตุอันควรลงโทษทางปกครองพร้อมสำเนาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องด้วยเท่าที่จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าใจข้อกล่าวหาได้ และต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบในเรื่องดังต่อไปนี้ด้วย
- มติการมอบหมายกรรมการเจ้าของเรื่องและผู้ช่วยกรรมการเจ้าของเรื่อง (ข้อ 26 วรรคสาม)
- สิทธิการคัดค้านประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการเจ้าของเรื่องและผู้ช่วยกรรมการเจ้าของเรื่อง (ข้อ 17)
- สิทธินำทนายความหรือที่ปรึกษาเข้าฟังการให้ถ้อยคำหรือการแถลงด้วยวาจาของตน (ข้อ 9 วรรคสอง)
- สิทธิขอตรวจดู ทราบ คัดสำเนา หรือขอสำเนาอันรับรองถูกต้องของเอกสารหรือพยานหลักฐาน ที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ถูกกล่าวหายื่นต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือกรรมการเจ้าของเรื่องหรือที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินหรือกรรมการเจ้าของเรื่องได้มา (ข้อ 15 วรรคหนึ่ง)
- สิทธิชี้แจงแถลงด้วยวาจาต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ข้อ 39)
ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือพร้อมพยานหลักฐาน (ถ้ามี) ยื่นต่อกรรมการเจ้าของเรื่องภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหรือถือว่าได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
- กรณีมีเหตุผลและความจำเป็นอันไม่อาจยื่นหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ถูกกล่าวหาอาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาต่อกรรมการเจ้าของเรื่องก่อนครบกำหนดระยะเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้ และให้กรรมการเจ้าของเรื่องมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาได้อีกไม่เกิน 15 วัน และแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบด้วย
- กรณีมีคำขอขยายระยะเวลาเกินกว่า 15 วันเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้เสนอประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณามีคำสั่งขยายระยะเวลาได้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ ต้องมีคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
- เป็นเรื่องเกิดขึ้นเกิน 5 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิด หรือ
เมื่อครบกำหนดระยะเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบข้อกล่าวหาและไม่ประสงค์จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือหักล้างข้อกล่าวหา
3. ขั้นตอนการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและกรรมการเจ้าของเรื่องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ก็ให้ดำเนินการขอให้หน่วยรับตรวจ ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือเจ้าหน้าที่ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมอบหมายให้ตรวจสอบ พยานบุคคลหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ มีหนังสือชี้แจงหรือส่งเอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือให้ความเห็น หรือมาให้ถ้อยคำ หรืออาจออกไปตรวจสถานที่ก็ได้
ในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน หากปรากฏว่าผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ถูกกล่าวหาไม่ทราบข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานนั้นมาก่อนให้กรรมการเจ้าของเรื่องสรุปข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานและแจ้งให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ถูกกล่าวหาทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้ชี้แจงหรือแสดงพยานหลักฐาน เพื่อยืนยันหรือหักล้างได้
4. ขั้นตอนการรับฟังพยานหลักฐานและการจัดทำรายงานของกรรมการเจ้าของเรื่อง เมื่อกรรมการเจ้าของเรื่องได้แจ้งข้อกล่าวหาและรับฟังคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว กรรมการเจ้าของเรื่องจะจัดทำรายงานโดยสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินภายใน 30 วัน เพื่อพิจารณาวินิจฉัยโดยกรรมการเจ้าของเรื่องมีดุลพินิจที่จะรับฟังพยานหลักฐานที่ได้รับมาในการพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่จำกัดเฉพาะที่เสนอโดยผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้ถูกกล่าวหา
5. ขั้นตอนการพิจารณาวินิจฉัยโทษทางปกครอง เมื่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้รับรายงานของกรรมการเจ้าของเรื่องพร้อมสำนวนแล้ว จะเรียกประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาวินิจฉัยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานพร้อมสำนวน โดยก่อนการวินิจฉัยโทษทางปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และหากผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดประสงค์ที่จะมาแถลงด้วยวาจาต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นมาแถลงด้วยวาจาได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ในวันประชุมพิจารณา กรรมการเจ้าของเรื่องจะเป็นผู้แถลงสรุปข้อเท็จจริง ประเด็นข้อกล่าวหา ข้อกฎหมาย และความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยในการพิจารณาความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐและการลงโทษทางปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะใช้รายงานผลการตรวจสอบของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นหลักและพิจารณาข้อเท็จจริงจากสำนวน รายงานของกรรมการเจ้าของเรื่อง รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- กรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา ให้มีคำวินิจฉัยยุติเรื่อง
- กรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่ามีการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาให้มีคำวินิจฉัยสั่งลงโทษทางปกครองแก่ผู้ถูกกล่าวหาที่กระทำความผิด
เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจัดทำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะมีหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกกล่าวหาและหน่วยงานที่สังกัด หรือผู้บังคับบัญชาหรือผู้กำกับดูแลเพื่อทราบหรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัย แล้วแต่กรณี
โทษทางปกครอง และการบังคับตามคำวินิจฉัย
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 98 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า โทษทางปกครอง มีดังต่อไปนี้ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน (3) ปรับทางปกครอง และมาตรา 98 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในการพิจารณาโทษทางปกครอง ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิด และความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้น โดยวิธีการบังคับโทษตามคำวินิจฉัยได้กำหนดไว้ในระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2562 ดังนี้
1. โทษภาคทัณฑ์ ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2562 ข้อ 47 กำหนดว่า “การลงโทษภาคทัณฑ์ ให้สำนักงานแจ้งคำวินิจฉัยสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ให้ผู้ถูกลงโทษทราบโดยเร็ว” ซึ่งโทษดังกล่าวเป็นโทษประเภทเดียวกันกับโทษทางวินัยที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
2. โทษตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2562 ข้อ 48 กำหนดว่า “การลงโทษตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ให้สำนักงานแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกลงโทษทราบและนำคำวินิจฉัยลงเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามระยะเวลาที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดไว้ในคำวินิจฉัย”
3. โทษปรับทางปกครองตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2562 ข้อ 49 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “การลงโทษปรับทางปกครอง ให้สำนักงานแจ้งคำวินิจฉัยให้ผู้ถูกลงโทษทราบ และให้ผู้ถูกลงโทษชำระเงินค่าปรับต่อสำนักงานตามคำวินิจฉัย” และวรรคสอง กำหนดว่า “กรณีถึงกำหนดแล้วไม่มีการชำระเงินค่าปรับโดยถูกต้องครบถ้วน ให้สำนักงานมีหนังสือเตือนให้ผู้ถูกลงโทษชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าเจ็ดวันทำการ ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน คณะกรรมการอาจให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ซึ่งตามลักษณะการบังคับตามคำวินิจฉัยดังกล่าว ย่อมส่งผลกระทบต่อทรัพย์สินของผู้ถูกลงโทษโดยตรง และเพื่อมิให้จำนวนค่าปรับนั้นสูงเกินไป จึงได้มีการกำหนดกรอบการลงโทษปรับทางปกครองไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาตรา 98 วรรคสอง ว่า “ในการลงโทษปรับทางปกครอง จะลงโทษปรับเป็นเงินเกินเงินเดือนสิบสองเดือนของผู้ถูกลงโทษมิได้” โดยเงินค่าปรับทางปกครองที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รับไว้จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้วรายงานให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินทราบทุกครั้ง ตามข้อ 49 วรรคท้าย ของระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2562