เมื่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้รับสำนวนความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐจากสำนักตรวจสอบแล้ว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะมอบหมายให้สำนักวินัยการเงินการคลังดำเนินการสอบทานสำนวนและจัดทำหนังสือเสนอเรื่อง ทั้งนี้เป็นไปตามแนวทางการเสนอเรื่องความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐที่ออกตามตามคำสั่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ 14/2567 ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2567 เรื่อง การเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้พิจารณาลงโทษทางปกครองแก่ผู้รับตรวจหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้กำหนดขั้นตอนและแนวทางการสอบทานไว้ ดังนี้
1. ขั้นตอนการรับเรื่องและสอบทานสำนวน
ผู้อำนวยการสำนักวินัยการเงินการคลังเมื่อได้รับสำนวนพร้อมแบบเสนอเรื่องจากผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแล้วจะดำเนินการ ดังนี้
1.1 จัดให้มีการบันทึกเรื่องลงสารบบรับเรื่องเพื่อควบคุมและติดตามมิให้เรื่องวินัยการเงินการคลังพ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่กระทำความผิด
1.2 มอบหมายเรื่องให้เจ้าหน้าที่สำนักวินัยการเงินการคลังเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการพิจารณาตรวจสำนวน
- เพื่อสอบทานความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและแจ้งข้อกล่าวหาได้
- เพื่อสอบทานความถูกต้อง ครบถ้วน สมบูรณ์ของหนังสือยืนยันการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน
2. ผลการสอบทานสำนวน แยกพิจารณาได้ ดังนี้
2.1 กรณีสำนักวินัยการเงินการคลังสอบทานสำนวนแล้วปรากฏข้อเท็จจริงเบื้องต้นในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
- ผู้ถูกกกล่าวหาตาย หรือ
- เป็นเรื่องเกิดขึ้นเกิน 5 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิด หรือ
- คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นนั้นมาแล้วโดยอาศัยข้อเท็จจริงอย่างเดียวกัน
ให้ผู้รับผิดชอบสำนวนพิจารณาเสนอความเห็นผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไปจนถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาสั่งยุติการเสนอเรื่องความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ และส่งเรื่องคืนสำนักตรวจสอบ
2.2 กรณีสำนักวินัยการเงินการคลังสอบทานสำนวนแล้วเห็นว่า มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้พิจารณาลงโทษทางปกครองแก่ผู้รับตรวจตามมาตรา 96 หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561
ให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาเสนอความเห็นผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไปจนถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาสั่งยุติการเสนอเรื่องความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ และส่งเรื่องคืนสำนักตรวจสอบ
2.3 กรณีสำนักวินัยการเงินการคลังสอบทานสำนวนแล้วเห็นว่า มีข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐาน ยังไม่ครบถ้วนถูกต้องเพียงพอที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและแจ้งข้อกล่าวหาได้ ยังขาดพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ครบถ้วนให้ผู้รับผิดชอบพิจารณาเสนอความเห็นผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นไปจนถึงต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาสั่งการให้รองผู้ตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบที่เสนอเรื่อง ให้ข้อเท็จจริงหรือส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติม ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับ หรือภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกำหนด
2.4 กรณีสำนักวินัยการเงินการคลังสอบทานสำนวนแล้วเห็นว่ามีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ครบถ้วนถูกต้องเพียงพอที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะมีมติรับเรื่องไว้พิจารณาและแจ้งข้อกล่าวหาได้ ให้ผู้รับผิดชอบจัดทำหนังสือเสนอเรื่องและบันทึกข้อความกราบเรียนประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อเสนอผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินลงนามเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้พิจารณาลงโทษทางปกครองแก่ผู้รับตรวจตามมาตรา 96 หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561