กำลังโหลด...

    เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 การควบคุมตรวจสอบวินัยทางงบประมาณและการคลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วินัยการเงินการคลังของรัฐ” โดย ปรากฎหลักการสำคัญในมาตรา 62 กำหนดให้รัฐรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะทางการเงินและการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยตราพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ขึ้นเป็นแม่บทในการรักษาวินัยการเงินการคลังขึ้นตามความในมาตราดังกล่าวและให้การสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐเป็นอำนาจของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 240 ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 วินัยการเงินการคลังของรัฐในปัจจุบัน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 จึงมีหลักการที่แตกต่างไปจากวินัยทางงบประมาณและการคลังตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 และ วินัยทางการเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 กล่าวคือ

    ผู้ถูกกล่าวหา การรักษาวินัยการเงินการคลังเป็นหน้าที่ของหน่วยรับตรวจ โดยอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับตรวจซึ่งหมายถึงหัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการหรือการบริหารของหน่วยรับตรวจ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่าฝืนวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ตามพระราชพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 จนเกิดความเสียหาย ผู้รับตรวจต้องดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อรัฐหรือหน่วยรับตรวจตามที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งผลการตรวจสอบเสียก่อน หากผู้รับตรวจไม่ดำเนินการตามที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดจึงจะเสนอลงโทษทางปกครองกับผู้รับตรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จงใจไม่ปฏิบัติตตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2 มาตรา 95 มาตรา 96 และมาตรา 97 ต่างจากวินัยทางงบประมาณและการคลังตามรัฐธรรมนูญเดิม ที่มุ่งเน้นลงโทษเจ้าหน้าที่หรือพนักงานของหน่วยรับตรวจที่ฝ่าฝืนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ.2544

    การกระทำใดที่จะต้องรับโทษทางปกครอง วินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งลงโทษทางปกครองกรณีมีการกระทำความผิดว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มิได้กำหนดฐานความผิดไว้เป็นการเฉพาะ จึงส่งผลให้การพิจารณาว่าการกระทำใดที่จะเป็นความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐนั้นต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดกรอบวินัยทางการเงินและการคลังไว้ แต่การกระทำใดที่แม้จะฝ่าฝืนกรอบวินัยการเงินการคลังแล้วจะต้องเข้าเงื่อนไขที่จะเสนอลงโทษทางปกครองได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 95 มาตรา 96 และมาตรา 97 ด้วย ต่างจากวินัยทางงบประมาณและการคลังตามรัฐธรรมนูญเดิมที่กำหนดไว้ชัดเจนในระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยวินัยทางงบประมาณและการคลัง พ.ศ.2544 ว่าการกระทำใดบ้างที่ฝ่าฝืนแล้วจะมีโทษวินัยทางงบประมาณ

    โทษทางปกครอง วินัยการเงินการเงินการคลังกำหนดโทษทางปกครองที่จะลงโทษกับผู้กระทำผิดวินัยทางการเงินการคลังของรัฐไว้อย่างชัดเจนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 98 ได้แก่ โทษภาคทัณฑ์ โทษตำหนิโดยเปิดเผย โทษปรับทางปกครอง โดยการลงโทษปรับทางปกครองนั้นจะลงโทษปรับเป็นเงินเกินเงินเดือน 12 เดือนของผู้ถูกลงโทษมิได้และการพิจารณาโทษทางปกครองให้คำนึงถึงความร้ายแรงแห่งพฤติกรรมที่กระทำผิดและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำนั้น ต่างจากวินัยทางงบประมาณและการคลังตามรัฐธรรมนูญเดิมที่กำหนดโทษไว้เพียงโทษปรับทางปกครองเท่านั้นและชั้นโทษกำหนดไว้ตามเงินเดือนในขณะกระทำความผิด โทษชั้นที่ 1 โทษปรับไม่เกินเงินเดือน 1 เดือน และโทษชั้นที่ 4 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด โทษปรับเท่ากับเงินเดือนตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 12 เดือนการพิจารณากำหนดโทษทางปกครองให้คำนึงถึงระดับความรับผิดชอบของตำแหน่งผู้กระทำผิด ความสำคัญของมาตรการควบคุมการเงินของรัฐที่มีการละเมิด ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทางราชการ เจตนาของผู้กระทำความผิด

    กระบวนวิธีพิจารณา การเสนอเรื่องวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาวินิจฉัยลงโทษทางปกครองเป็นอำนาจของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเท่านั้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 96 มาตรา 97 และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยและสั่งลงโทษทางปกครอง โดยมีกรรมการตรวจเงินแผ่นดินคนหนึ่งเป็นกรรมการเจ้าของเรื่องและมีข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินอย่างน้อยหนึ่งคนเป็นผู้ช่วยกรรมการเจ้าของเรื่อง การแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาและการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหา การรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานและการพิจารณาวินิจฉัยโทษทางปกครองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกำหนดในระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการพิจารณาวินิจฉัยความผิดวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2562 ต่างจากการเสนอเรื่องวินัยทางงบประมาณและการคลังตามรัฐธรรมนูญเดิมที่กำหนดให้ ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบโดยอนุมัติผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้มีสิทธิเสนอเรื่องและมีเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคนหนึ่งมีหน้าที่ในการทำสำนวนรวบรวมข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นโดยอิสระแก่คณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง เมื่อคณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังได้พิจารณาและมีมติในเรื่องใดแล้ว ให้เสนอมติในเรื่องนั้นไปยังคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

    การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561 มาตรา 103 บัญญัติให้ผู้ถูกสั่งลงโทษทางปกครองอาจอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง กรณีหากผู้ถูกลงโทษทางปกครองประสงค์จะโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรณีนี้อำนาจในการพิจารณาคดีจึงเป็นของศาลปกครองสูงสุดต่างจากวินัยทางงบประมาณและการคลังตามรัฐธรรมนูญเดิมที่มิได้กำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ การอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีสถานะทางกฎหมายเป็นคำสั่งทางปกครองจึงต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และการฟ้องคดีต่อศาลปกครองจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (1) โดยอยู่ในอำนาจศาลปกครองชั้นต้นที่จะพิจารณา

    อย่างไรก็ตามแม้จะมีส่วนที่แตกต่างกันแต่วินัยการเงินการคลังของรัฐตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ยังคงมีสถานะทางกฎหมายเป็นคำสั่งทางปกครอง โดยมีสภาพบังคับของการกระทำความผิดเป็นสภาพบังคับทางปกครอง รวมถึงการวินิจฉัยลงโทษทางวินัยการเงินการคลังไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกลงโทษทางวินัยที่จะพิจารณาลงโทษทางวินัยเพราะเหตุเดียวกันนี้อีกแต่โทษดังกล่าวจะต้องเป็นโทษสถานอื่นซึ่งมิใช่เป็นโทษตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือน เช่นเดียวกับวินัยทางงบประมาณและการคลังตามรัฐธรรมนูญเดิม


กลับหน้าหลัก